การเต้นแอโรบิคเป็นการออกกำลังกายประเภทคาร์ดิโออีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นที่นิยมสำหรับบรรดาสาวๆหลายๆ คน โดยเฉพาะผู้หญิงที่ต้องการลดน้ำหนักและความอ้วนด้วยการเต้นแอโรบิค นับว่าได้ผลเป็นอย่างมาก นอกจากได้รูปร่าง สุขภาพที่ดีและแข็งแรงแล้ว ยังทำให้เกิดความสนุกสนาน จากการเต้นแอโรบิคเป็นกลุ่ม ทำให้มีโอกาสได้รู้จักกันมากขึ้นด้วย
การเต้นแอโรบิค คือการออกกำลังกายแบบผสมผสานด้วยการนำเอาท่ากายบริหารและการเคลื่อนไหวพื้นฐานรวมเข้าด้วยกัน
เช่น การเดิน การวิ่ง การกระโดด การก้าวเท้า และท่าในการเต้นรำ ให้เข้ากับจังหวะเสียงเพลงและดนตรี
มีความสนุกสนานมากขึ้น ยิ่งได้เต้นแอโรบิคร่วมกันเป็นกลุ่ม
ซึ่งจะไม่ทำให้รู้สึกเบื่อหน่ายขณะออกกำลังกาย
ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งของผู้ที่ต้องการจะออกกำลังกาย และการเต้นแอโรบิคนั้นยังเป็นการออกกำลังกาย
ที่สามารถปรับความหนักเบาให้เหมาะสมได้ตามสภาวะร่างกายของแต่ละคน
การเต้นแอโรบิคดีต่อร่างกายอย่างไร?
การเต้นแอโรบิคช่วยให้การทำงานของหัวใจและระบบไหลเวียนของเลือดดีขึ้น
ช่วยสร้างความอดทนและความแข็งแรงของปอดและระบบหายใจให้มีประสิทธิภาพในการจับออกซิเจนได้ดีขึ้น
ส่วนของกล้ามเนื้อยังช่วยให้เผาผลาญพลังงานส่วนเกินของร่างกาย ทำให้บรรดาสาวๆ มีรูปร่างและหุ่นที่ดีขึ้นได้
พบคนที่ออกกำลังกายแบบแอโรบิคเป็นประจำ ปริมาณไขมันดี HDL จะเพิ่มขึ้น7.5%
ซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญไขมันในเส้นเลือด และมีส่วนช่วยลดไขมันชนิดไม่ดี
LDL จึงสามารถช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันได้เป็นอย่างดี ลดอัตราการเสี่ยงจากการแข็งตัวของเลือด
อีกทั้งยังเป็นการพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของร่างกาย ช่วยให้ร่างกายสามารถทำงานได้มากขึ้น
แต่เหนื่อยช้าลง และยังช่วยกระตุ้นต่อมไร้ท่อต่าง ๆ ให้หลั่งฮอร์โมนที่จำเป็นและร่างกายต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หลักการเต้นแอโรบิคให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดคือ
1) ความถี่ในการเต้นแอโรบิคนั้นควรทำอย่างสม่ำเสมอ
อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-5 วัน
2) การเต้นแอโรบิคต้องใช้ระยะเวลาในการออกกำลังกายนานพอที่จะทำให้ร่างกายใช้ออกซิเจนเพื่อสร้างพลังงาน
ทำให้หัวใจ ปอด ถูกกระตุ้น และเกิดกระบวนการสร้างพลังงานในกล้ามเนื้อ และสร้างพลังงานให้ร่างกายได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยประมาณ 40 นาที โดยอบอุ่นร่างกาย 5 นาที
บริหารกล้ามเนื้อมัดใหญ่ 5 นาที บริหารกล้ามเนื้อท้อง กล้ามเนื้อส่วนล่าง 5 นาที และต่อด้วยแอโรบิคอีก
20 นาที ค่อยผ่อนคลายอีก 5 นาที ซึ่งจะต้องทำให้หัวใจหรือชีพจรมีอัตราการเต้นอยู่ในระหว่าง 65-85% ของอัตราการเต้นสูงสุดของหัวใจ
(MHR : Maximum Heart Rate = 220 - อายุ (ปี)) ซึ่งความหนักในการเต้นแอโรบิคของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันไปตามอายุ
เพราะในการคำนวณหาอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดต้องใช้อายุไปลบกับ 220 จึงทำให้ค่าอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดของแต่ละคนมีความแตกต่างกันออกไป
3) การเต้นแอโรบิคอย่าฝืนเมื่อรู้สึกเหนื่อยจัด
ซึ่งอาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดีต่อร่างกาย